วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2557

โรคแพ้อากาศเป็นอย่างไร

โรค แพ้อากาศ เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อย มากที่สุดโรคหนึ่ง ความจริงแล้วชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่อดีตไม่เหมาะสมเพราะสื่อความหมายได้ ไม่ดี(อากาศเป็นก๊าซต่าง ๆ ในธรรมชาติรวมกันอยู่ไม่มีปัญหากับจมูก) ในทางการแพทย์ปัจจุบัน ถ้าจะแปลความหมาย ให้ตรงกับชื่อโรคในภาษาอังกฤษ คือ Allergic rhinitis ก็คงต้องแปลเป็นภาษาไทยว่า "โพรงจมูกอักเสบ จากการแพ้" แต่ก็ยาวเกินไป และไม่สะดวกในเรียกใช้

จมูกเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ เพื่อใช้กรองฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอม โดยติดที่ขนจมูก และใช้ปรับอุณหภูมิของร่างกาย ก่อนที่จะผ่านลงไปสู่หลอดลม เยื่อจมูกยังมีหน้าที่ผลิตสารเยื่อเมือก เพื่อป้องกันสิ่ง แปลกปลอม

โพรงจมูกอักเสบ การที่โพรงจมูกเกิดการ อักเสบขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม คันจมูก ซึ่งจริง ๆ แล้วมีสาเหตุมากมายที่จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ เช่น

   1. โรคแพ้อากาศ (โพรงจมูกอักเสบจากการแพ้)
   2. โพรงจมูกอักเสบจากเชื้อโรค
         1. ไวรัส เรียกว่า หวัด
         2. เชื้อแบคทีเรีย
   3. โพรงจมูกอักเสบ จากยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนบางชนิด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
   4. โพรงจมูกอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ
   5. บางครั้งโพรงจมูกอักเสบ อาจเป็นอาการนำของโรคร้ายแรง บางโรคได้ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคแพ้อากาศโดยละเอียด

โรคแพ้อากาศ คือโรคที่เกิดจากเยื่อบุโพรงจมูกสัมผัสสาร ก่อภูมิแพ้เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งเกิดอาการของโรคขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันจมูก คัดจมูกหายใจไม่สะดวก น้ำมูกไหลอาจจะกระแอมบ่อย ๆ เนื่องจากมีน้ำมูกไหลลงคอ อาการคัดจมูกถ้าเป็นมาก ผู้ป่วยบางคนจะใช้มือดันจมูกขึ้น เมื่อทำบ่อย ๆ จะเกิดรอยขาว ๆ ขึ้นที่สันจมูก

โรคแพ้อากาศก็เป็นโรคหนึ่ง ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม มักจะมีประวัติความเจ็บป่วยแบบเดียวกัน ในครอบครัว

ตัวไรฝุ่น เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งมี 8 ขา ตระกูลเดียวกับแมงมุมและเห็บ ตัวไรฝุ่นมีขนาดเล็ก 0.3 มม. มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ชอบอากาศร้อนชื้น ซึ่งประเทศไทยก็เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโต ของตัวไรฝุ่นมาก ตัวไรฝุ่นดำรงชีพอยู่ได้โดยกิน สะเก็ดผิวหนังและขี้รังแค ของคนและสัตว์ มีอวัยวะพิเศษ ในการดูดซึมน้ำจากบรรยากาศรอบ ๆ ตัวได้ วงจรชีวิตของไรฝุ่น 1 ตัวจะมีชีวิตอยู่ได้ 30วัน ไรฝุ่นตัวเมียจะวางไข่ได้ครั้งละ 25-30 ฟอง ในฝุ่นที่อยู่ในบ้าน 1 กรัม บางครั้งจะมีตัวไรฝุ่นได้ถึง 3,000 ตัว ตัวไรฝุ่นไม่สามารถกัดได้ ไม่สามารถแพร่เชื้อโรคได้ ไม่สามารถอาศัย อยู่บนตัวคนได้

ในอดีตการแพ้ไรฝุ่น และการแพ้ฝุ่นบ้าน (house dust)ใช้แทนกันได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช้แทนกัน แล้ว เนื่องจากฝุ่นในบ้านประกอบด้วย สารก่อภูมิแพ้อื่น ๆอีก เช่น ขนสัตว์ (ขนสุนัข ขนแมว) เชื้อรา ซึ่งก็เป็นสารก่อภูมิแพ้เหมือนกัน

การวินิจฉัยโรคแพ้อากาศ สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียดแพทย์ผู้รักษาจะถาม ถึงอาการที่เป็น ระยะเวลาที่เป็น ประวัติครอบครัว ว่ามีใครเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ ประวัติภูมิแพ้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยาที่ใช้อยู่ สิ่งสำคัญอันดับสอง ได้แก่ การตรวจร่างกายโดยละเอียด แพทย์จะตรวจตา (ผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ อาจจะมีอาการคันตา เคืองตา ตาแดงด้วย) ตรวจจมูกเพื่อดูลักษณะสีของเนื้อจมูก อาการบวมในจมูก ดูน้ำมูก ตรวจปอด และตรวจผิวหนังด้วย

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยแพ้อะไร ในปัจจุบันการตรวจที่ผิวหนัง (skin test) เป็นการตรวจที่ง่ายสะดวก ค่าใช้จ่ายน้อย วิธีการทำคือใช้น้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ แต่ละชนิด หยดบนผิวหนังบริเวณท้อง แขนแล้วใช้เข็ม หรืออุปกรณ์พิเศษกดให้น้ำยาซึมลงใต้ผิวหนัง ถ้ามีอาการแพ้ก็จะเกิดรอย บวมแดงขึ้น มักจะอ่านผลที่ 15-30 นาที

ในบางครั้งถ้าไม่สามารถตรวจที่ผิวหนัง การตรวจในเลือดก็สามารถทำได้ แต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่า

ผู้ป่วยบางคนจะถามแพทย์ถึงความจำเป็นที่ต้องการตรวจที่ผิวหนัง จริง ๆแล้วจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ทราบว่า สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยมีปัญหาคือตัวไหน ซึ่งจะมีผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ ที่สำคัญมาก คือการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ถ้าแพ้ตัวไรฝุ่นจำเป็น ที่จะต้องดูแลภายในบ้านให้มีตัวไรฝุ่นน้อย ที่สุดหรือไม่มีเลย โดยการไม่ใช้ที่นอน หรือหมอน ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ของตัวไรฝุ่น เช่น นุ่น ขนเป็ด ใยมะพร้าว ถ้าจำเป็นต้องใช้อาจหาพลาสติกหรือวัสดุพิเศษ มาคลุมที่นอนไว้ ไม่ใช้พรมในบ้าน เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยแพ้เชื้อราในดิน ก็คงต้องไม่มีกระถางต้น ไม้ในบ้าน เวลาดูแลสวน รดน้ำพรวนดิน ก็คงต้อมีอุปกรณ์ในการป้องกันจมูกไว้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไม่ควรมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว

ในกรณีที่การหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ ไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้น แพทย์ก็จะรักษาโดยยาให้ ยาที่ใช้ช่วยมี 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาที่ใช้รับประทาน และยาที่ใช้พ่นทางจมูก ยารับประทาน ที่ใช้คือ ยาต้านฮีสตามีน หรือ ยาแก้แพ้ ในอดีตที่ใช้บ่อยคือ คลอเฟนิรามิน มีราคาถูก แต่มีข้อเสีย คือ ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ในปัจจุบันมียาแก้แพ้ชนิดใหม่ที่จะไม่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน หรือเกิดขึ้นน้อยลงมาก

ยาพ่นจมูก มีหลายชนิดเช่นกัน บางชนิดไม่สามารถใช้นาน ๆ ได้ เพราะจะทำให้เกิดการดื้อยา และจมูกกลับมีอาการมากขึ้นอีก ยากลุ่มนี้มักเป็นยาลดอาการคัดจมูก ในระยะแรกที่ใช้ผู้ป่วยจะรู้สึกดีมาก เพราะเห็นผลเร็ว แต่พอใช้ไปสักระยะหนึ่ง จะมีความรู้สึกว่าต้องการยาในความถี่ที่มากขึ้น ดังนั้นแพทย์จะเน้นว่า ยานี้ใช้ได้ไม่เกิน 5-10 วัน (ตัวอย่างเข่น อ๊อกซิเมทาโซลีน)

ยาพ่นจมูกอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นยาด้านการอักเสบในจมูก ซึ่งมีทั้งที่ประกอบด้วย สารสเตียรอยด์ และสารที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ในกรณีเด็ก แพทย์มักจะเลือกใช้กลุ่ม ที่ไม่มีสเตียรอยด์ก่อน ยากลุ่มนี้ได้ผลประมาณ 50-70% ของผู้ป่วย (ตัวอย่างเช่น โครโมลินโซเดียม) ผู้ป่วยบางคนจะไม่ตอบสนอง การรักษา ด้วยยากลุ่มนี้ และมีอาการรักษา ด้วยยากลุ่มนี้ และมีอาการมากก็จำเป็นต้อง ใช้ยาพ่นจมูกที่มีสเตียรอยด์ ซึ่งได้ผลดีมาก ถึงแม้ว่าจะมีสารสเตียรอยด์ แต่ก็มีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เนื่องจากยาต้านการอักเสบ แบบพ่นจมูก เป็นยาที่ถือว่าออกฤทธิ์เฉพาะที่ จำเป็นต้องใช้ทุกวัน เป็นระยะเวลานาน

การรักษาโรคแพ้อากาศอีกวิธีหนึ่งได้แก่ การฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณเล็กน้อย ทุกสัปดาห์ เพื่อไปเปลี่ยนแปลงระบบ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้อาการของโรคแพ้ อากาศดีขึ้นได้ แต่มีข้อเสีย คือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องไป โรงพยาบาลทุกอาทิตย์ในระยะแรก ของการรักษา เมื่อดีขึ้นแล้วจึงจะเปลี่ยน เป็นทุก 2 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็น 3-4 สัปดาห์ ต่อการฉีดยา 1 ครั้ง รวมระยะเวลาทั้งหมด ในรักษาแบบนี้ 2-3 ปี

โรคแทรกซ้อนของโรคแพ้อากาศ ที่สำคัญ คือ โพรงไซนัสอักเสบ เนื่องจากโพรงไซนัส เป็นช่องว่างในกะโหลกศีรษะมี 4 คู่ในผู้ใหญ่ และทุกโพรงไซนัสจะมีรูเปิด ของไซนัสเข้าสู่จมูก การรักษาจำเป็นต้องรักษาทั้ง 2 โรคไปพร้อมกัน มิฉะนั้นผู้ป่วยมักจะ เป็นไซนัสอักเสบได้อีกเรื่อย ๆ

โดยสรุปแล้ว โรคแพ้อากาศเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ดี จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ระหว่างแพทย์ และผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมักจะมีอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยา อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ด้วย จึงจะได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น